ในสังคมทุกวันนี้ เราทุกคนต่างมองเห็นความสำคัญเฉพาะหน้าที่ของตน งานของตน โดยลืมมองให้เลยไกลออกไปถึงวิถีชีวิตและการงานของผู้อื่นบ้าง อย่างผู้ผลิตก็ทำหน้าที่ผลิตไป ทำอย่างไร วิธีใดก็ได้ขอให้มีผลผลิตออกมา จะใส่สารเคมีให้ผู้บริโภคได้รับไปบ้างก็ไม่ต้องเป็นห่วงเป็นใยอะไร ทางด้านผู้บริโภคเองก็ทำหน้าที่บริโภคอย่างเดียว พยายามขวนขวายหาเงินหาทองเพื่อให้ได้ซื้อสินค้าหน้าตาสวยๆ ซึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่มิได้มองว่ากว่าที่ผู้ผลิตจะได้ผลผลิตเหล่านั้นมา ต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการที่ยากลำบากมากมายเพียงใด
ฉะนั้น เมื่อใดที่คนเราเห็นอาหารเป็นเพียงสินค้า ผู้ผลิตจะไม่คำนึงถึงผู้บริโภคว่าจะได้รับพิษภัยจากอาหารนั้นแค่ไหน ถึงเวลาแล้วที่ศีลธรรมทางการผลิตและบริโภคต้องเกิดขึ้นเพื่อความเอาใจใส่ต่อกันและกันของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และเมื่อนั้นอาหารจะเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพสำหรับทุกคน สำหรับข้อแนะนำต่อไปนี้ขอกล่าวรวมไว้ทั้งในแง่พฤติกรรมส่วนตัวและกิจกรรมส่วนรวม เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นแนวทางในอันที่จะนำไปสู่ชีวิตที่ปลอดสารพิษมากยิ่งขึ้น
สนับสนุนผู้ผลิตพืชผักปลอดสารพิษ
โดยวิธีที่ต้องช่วยบอกต่อๆกันไปมาอุดหนุนสินค้าของร้านค้า หรือกลุ่มเกษตรกรที่ขายพืชผักปลอดสารเคมี แม้ว่าในขั้นต้นราคาอาจจะแพงกว่าแม่ค้าที่เจือปนสารเคมีทั้งที่ต้นทุนในการผลิตมีราคาถูกกว่าก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากต้นทุนจำนวนมากต้องสูญเสียไปกับการดำเนินการทางการตลาด การขนส่ง เนื่องจากเครือข่ายในการตลาดยังไม่กว้างพอ แต่ในอนาคตหากทุกคนช่วยกันซื้อสินค้าประเภทนี้มากๆ ราคาของสินค้าก็จะลดต่ำลงมาโดยปริยาย
ปลูกผักไว้กินเอง
เรื่องนี้อาจจะทำได้ค่อนข้างยากสักหน่อยสำหรับสังคมในเมือง เนื่องจากจำกัดด้วยเนื้อที่ แต่ถ้ามีความตั้งใจจริงก็สามารถทำได้ อาจจะปลูกไว้ในกระถางสำหรับผักที่มีรากไม่ลึกนัก เช่น กะเพรา พริก คะน้า ตะไคร้ มะเขือ หรือแม้แต่ผักกาดขาวที่เรามักไม่ค่อยเห็นปลูกกัน ก็สามารถปลูกในกระถางได้ และเก็บกินได้ทั้งปีถ้ารู้จักวิธีเก็บ คือ ชาวสวนเขาบอกมาว่าให้เด็ดเฉพาะใบล่างแล้วเหลือยอดไว้ อย่าตัดทั้งต้น มันจะแตกใบออกมาให้ได้กินเรื่อยๆ นอกจากนี้ก็ยังมีผักอื่นๆอีกมากมายที่สามารถปลูกได้ในกระถาง แล้วการปลูกผักในกระถางนี้ควรจะปลูกแบบหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือที่เรียกว่า รีไซเคิล (recycle) เนื่องจากดินมีจำกัด มีวิธีการ คือ หลังจากบริโภคแล้วให้นำสิ่งที่เหลือหรือเศษอาหารจากท่อระบายน้ำมาใช้ใหม่ มาทำเป็นปุ๋ย เพื่อหมุนเวียนผลิตอาหารได้อีก
ข้อดีของการปลูกผักกินเอง นอกจากเราจะสามารถควบคุมกรรมวิธีการปลูกให้ปลอดสารพิษได้ด้วยตนเองแล้ว ยังเป็นผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ผู้ปลูกด้วย (แต่อย่าภูมิใจมากเสียจนไม่กล้ากินผักที่ปลูกเพราะเสียดายก็แล้วกัน) และถ้ากิจกรรมนี้ได้มีการทำร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวด้วยแล้ว ก็จะยิ่งช่วยกระชับความสัมพันธ์ของเหล่าสมาชิกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น